“ทุกคนรู้มั้ยว่าบาริสต้าทำหน้าที่อะไรบ้าง ?”
เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะตอบด้วยคำตอบสั้น ๆ ว่า ‘ชงกาแฟ’ จบ … ไม่จบสิ ๆ ถ้างั้นเราต้องขอแย้งต่อเลยว่าอาชีพบาริสต้าไม่ได้ทำแค่หน้าที่ชงกาแฟในคาเฟ่อย่างเดียวนะ แต่พวกเขาและเธอเป็นเหมือนเดอะแบกของร้าน ทำแทบจะทุกอย่างเพื่อเติมชีวิตชีวาให้กับคาเฟ่ ไปจนถึงการเป็นหน้าตาของร้านกาแฟเลยทีเดียว
บทความนี้ขอมอบให้แก่บาริสต้าทุกคนที่ทำงานหนักในทุกวันเพื่อให้ลูกค้ามีกาแฟอร่อยดื่มมาเสมอ เราจะเขียนถึงความเป็นมาและเหตุผลว่าทำไมคอกาแฟทุกคนถึงขาดบาริสต้าไม่ได้
‘บาริสต้า’ คือใคร ?
บาริสต้า คือผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ ที่มีหน้าที่ตั้งแต่เตรียมและทำกาแฟเพื่อเสิร์ฟให้ผู้คน และหากพูดถึงทักษะหรือ Knowledge ของบาริสต้า คือการเป็นผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ของกาแฟ ความแตกต่างของคาแรคเตอร์แต่ละแบบ ความเข้าใจในการชงเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด ประเภทของการคั่ว อัตราส่วนของน้ำ และอื่น ๆ ไปจนถึงความเข้าใจต่อการใช้อุปกรณ์ สำหรับบาริสต้าในยุคสมัยใหม่ทักษะการบริการลูกค้าก็เป็นทักษะที่เพิ่มเข้ามาอย่างขาดกันไม่ได้เช่นกัน
บาริสต้ามาจากไหน ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของบาริสต้า
เชื่อกันว่าวันแรก ๆ ของคําว่า ‘Barista’ และ อาชีพบาร์เทนเดอร์ชงกาแฟ เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีตอนปี 1938 ช่วงเวลา 3 ปี (1935) หลังจากที่ กระแสของ Coffee House กลายเป็นที่นิยมของคนชนชั้นแรงงาน แถมยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เครื่อง Espresso Machines ถือกําเนิดขึ้นด้วย
คําว่า “Barista” ในภาษาอิตาลีมีความหมายว่า ‘Bartender’ / ‘Bar Keeper’ หรือคนที่ยืนอยู่หลังบาร์ ในตอนแรกมีความหมายถึงคนชงเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ และสื่อหมายความโดยตรงถึงคนที่ต้องทําเอสเพรสโซช็อตให้สมบูรณ์แบบ ก่อนที่ความหมายจะเปลี่ยนแปลงในภายหลังเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถชงกาแฟได้ทุกแบบตามเมนูกาแฟที่ค่อย ๆ พัฒนาการขึ้นทุกวัน
หน้าที่ของบาริสต้ามีอะไรบ้าง

ทีนี้เรามาลงรายละเอียดกันหน่อยดีกว่าว่าจริง ๆ แล้วหน้าตาของอาชีพบาริสต้า มีอะไรบ้าง และหากเพื่อน ๆ เป็นคอกาแฟที่สนใจในตลาดกาแฟอยู่แล้วล่ะก็ จะพบว่าปี 2023 ผู้คนทั่วโลกให้ความใส่ใจในคุณภาพของกาแฟมากขึ้น แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินมากขึ้นก็ตาม และการมาถึงของเทรนด์ Specialty Coffee กาแฟทางเลือกเมนูตอบโจทย์คนชอบความแตกต่างก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บทบาทของบาร์ริสต้าในปัจจุบันมีสีสันมากขึ้นด้วย
แนะนำเครื่องดื่มให้ตรงกับความต้องการของทุกคน
ก่อนที่จะเริ่มชงกาแฟ 1 แก้ว แน่นอนว่าหน้าที่แรกของบาริสต้าคือการให้คำแนะนำพร้อมตอบคำถามหน้าตาประมาณว่า “ชอบกาแฟแบบนี้ ควรดื่มกาแฟตัวไหนดี ?” บาริสต้าต้องสามารถอธิบายความแตกต่างของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ เพื่อตอบทุกโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะฝั่ง Slow Bar ที่มีกาแฟสายพันธุ์พิเศษเต็มไปหมด หรือ Speed Bar สำหรับเหล่าผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำหรือคนที่จะเพิ่งเริ่มต้นอยากลองเจ้าเครื่องดื่มคาเฟอีนนี้ก็ตาม
รังสรรค์เมนูกาแฟอย่างมีคุณภาพ
บาริสต้าที่ดีไม่ใช่แค่มีพรสวรรค์หรือชงกาแฟเก่งเพราะการฝึกฝนเป็นร้อย ๆ ครั้งเท่านั้น แต่ว่าต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกเมล็ดกาแฟที่ได้คุณภาพ วัตถุดิบเสริมที่เหมาะสม แล้วจำเป็นต้องสร้างตารางประจำวันเช็กอุปกรณ์เหล่านี้ให้พร้อมใช้งานสม่ำเสมอ รวมถึงเช็กสภาพร่างกายตัวเองให้พร้อมด้วยนะ เพื่อคุณภาพของแต่ละแก้วที่ชงออกไปให้มีคุณภาพเท่ากันทั้งหมด
ตรวจเช็กสต็อกสินค้าให้พอใช้งาน
ไม่ต่างกันกับอาชีพอย่างเชฟหรือบาร์เทนเดอร์ บาริสต้าเองก็ต้องเป็นมนุษย์ที่สามารถจัดการสต็อกวัตถุดิบสำหรับชงกาแฟได้อย่างเป๊ะ ๆ ด้วย คิดดูว่าหากวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการขายประจำวันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เสียรายได้ที่ควรได้รับต่อวัน / ได้รับรีวิวด้านลบจากลูกค้า / นำไปสู่ยอดขายที่ตกต่ำลงไปเลย เป็นต้น
รักษาความสะอาดอุปกรณ์
สิ่งสำคัญที่บาริสต้าทุกคนต้องให้ความใส่ใจทั้งตอนเริ่มงาน ระหว่างทำงาน และหลังจากเลิกงานแล้วก็คือการรักษาความสะอาดของอุปกรณ์อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์ทั้งเครื่องชงไปจนถึงของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปได้นาน ๆ แต่เพื่อให้กาแฟได้มาตรฐานในเรื่องของรสชาติด้วย
ความสำคัญของบาริสต้า
มีคำพูดหนึ่งที่พูดถึงความสำคัญของอาชีพบาริสต้าเอาไว้ได้ดีมาก ๆ จนเราต้องแชร์เอามาให้อ่านกัน
“บาริสต้าที่ดีไม่ได้กำหนดด้วยความสามารถในการทำ Latte Art ได้สวยขนาดไหน แต่มันคือการที่พวกเขาเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมกาแฟมากแค่ไหนต่างหาก ในการบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังกาแฟแต่ละแก้ว เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงให้กาแฟกับผู้คนเข้าถึงกัน เกิดเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมเมื่อเดินออกจากร้านไป”
สิ่งที่ทำให้เกิดคำพูดเบื้องต้น เป็นเพราะบาริสต้าคือคนแรกในร้านกาแฟที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นหน้าตาของแบรนด์ และเป็นคนสร้าง First Impression ทำหน้าที่อย่างที่เราบอกไปในตอนต้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี (หรือแย่) ให้กับร้านกาแฟนั้น ๆ ไม่ว่าจะอธิบายความแตกต่างระหว่าง Cold Brew Coffee กับ Dirty Coffee ตอบโจทย์กาแฟที่ลูกค้าไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองชอบคืออะไร พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษกลาย ๆ ที่จะช่วยให้ความรู้เรื่องกาแฟ เป็นต้น
เพราะบาริสต้าจำเป็นต้องมีความรู้มากกว่ากาแฟแต่ละแบบชงอย่างไร และทำงานแทบจะทุกอย่างภายในร้านตั้งแต่ใช้ทักษะเฉพาะทาง ไปจนถึงงานรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการทำความสะอาดกระจก ประตู เคาเตอร์ โต๊ะและเก้าอี้ เพื่อให้ร้านดูน่าเข้าตลอดเวลา ก็เรียกว่าเป็นทั้งศิลปินแห่งเครื่องดื่มคาเฟอีน และพนักงานผู้ขันแข็งของร้าน จึงตอบคำถามได้เลยว่าทำไมอาชีพนี้ถึงสำคัญต่อร้านกาแฟมาก ๆ เสมอ
ก่อนจะเป็น ‘บาริสต้า’ ต้องเตรียมตัวยังไง

เมื่อตกลงกับตัวเองได้แล้วว่าฉันไม่ได้แค่ชอบดื่มกาแฟที่ดี แต่อยากจะชงมันออกมาให้ทุกคนได้ดื่มด้วย ขั้นตอนการเตรียมตัวสู่เส้นทางของมือชงบาริสต้าก็จะมีสิ่งที่ต้องรู้หลัก ๆ ตามลิสต์รายการนี้
รู้จักเมล็ดกาแฟ
ต้องบอกว่าเราอยู่ในยุคที่มีเมล็ดพันธุ์กาแฟตอบโจทย์กับทุกรสนิยมของทุกคน การเข้าใจสิ่งนี้ก่อนเป็นคุณสมบัติแรกของบาริสต้าที่ดี ในขั้นต้นหลัก ๆ เมล็ดกาแฟมีด้วยกัน 2 แบบ คือ Single Origin กาแฟที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งปลูกเดียว สายพันธุ์เดียว และมาจากประเทศเดียวกัน เพื่อชูเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเองไปเลย กับ Blend กาแฟที่เกิดจากการผสมหลากสายพันธ์ุกาแฟเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ Taste Note และรสชาติที่มีมิติมากยิ่งขึ้น
ซึ่งที่ Aroma มีเมล็ดกาแฟทั้ง 2 แบบที่พรีเมียมมาก ๆ ตั้งแต่ ‘MaeChanTai SpecialLotCoffee’ กาแฟเบลนด์ไทยเจ้าของรางวัล Best of Thailand และ CoE ปี 2023 Rank 6 / ‘Victory Series – Amabile Blend’ เมล็ดกาแฟจากประเทศคอสตาริก้า เคนย่า และปางขอน ที่ได้รางวัล Gold Medal Award (Rank8) จาก International Institute of Coffee Tasters (IIAC) 2017 และอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่คอกาแฟต้องไม่พลาด
วิธีการชิมกาแฟที่ถูกต้อง
การเป็นบาริสต้ามืออาชีพก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่ากาแฟที่ดีและยังไม่เข้าขั้นนั้นแตกต่างกันอย่างไรกับกาแฟที่ดี พร้อมเข้าใจกลิ่นและรสชาติผ่านวิธีการ ‘ชิม’ และนี่คือขั้นตอนทั้งหมดของการชิมกาแฟที่ถูกต้อง
- ขั้นตอนที่ 1 ให้สูดดมกลิ่นของกาแฟเพื่อจับคาแรคเตอร์ก่อน
- ขั้นตอนที่ 2 คือการ Slurp วิธีการชิมกาแฟด้วยการสูดให้มีเสียงดัง ซึ่งจะปิดโพรงจมูกของเรา พร้อมกับปรับอุณหภูมิของกาแฟให้เย็นลง เพื่อให้เข้าถึงรสชาติของกาแฟได้มากขึ้น
- ขั้นตอนที่ 3 คือการหลับตาและพิจารณาถึงสิ่งที่อยู่ในรสชาติของกาแฟ ในครั้งแรก ๆ คุณอาจจะยังได้รับแค่รสของกาแฟอย่างเดียว แต่ให้ลองตั้งใจดี ๆ เป็นครั้งที่ 2 และ 3 คุณก็จะสัมผัสได้ถึงส่วนผสมที่มากขึ้น อาจจะเป็นอัลมอนด์หรือวอลนัท หรือได้รับกลิ่นของผลไม้อย่างบลูเบอรรี่ ไปจนถึงความเป็นกรด (Acidity) ผ่านรสเปรี้ยวที่บ่งบอกว่านั่นคือกาแฟคั่วเข้มหรือคั่วอ่อน
- ขั้นตอนที่ 4 อมกาแฟเอาไว้ก่อน เพื่อสัมผัส Body ของกาแฟผ่านลิ้นและเพดานปาก กาแฟตัวนั้นให้คาแรคเตอร์ที่หนักหน่วงหรือว่าเบาสบาย
- ขั้นตอนสุดท้ายคือสิ่งที่เรียกว่า Aftertaste หรือ Finish รับรสชาติและกลิ่นที่ยังค้างอยู่แม้จะผ่านไป 5 นาทีแล้ว เพื่อวิเคราะห์เสน่ห์ที่จะทำให้เรารักกาแฟตัวนั้นมากยิ่งขึ้น ลองสังเกตุดูว่าบอดี้ของกาแฟอยู่ในปากของเรานานแค่ไหน ค่อย ๆ ระเหยหรือว่าหายวับไปเลย อย่าลืมจดทุกข้อเอาไว้เพื่อที่จะได้ฝึกประสาทสัมผัสพัฒนาทักษะการชงกาแฟในอาชีพบาริสต้าของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
การชงกาแฟแบบมืออาชีพ
เข้าสู่ทักษะอันเป็นหัวใจหลักของบาริสต้าทุกคน เราจะพูดถึงการชงกาแฟผ่านอุปกรณ์ที่โลกกาแฟในปัจจุบันใช้กันโดยตลอด เริ่มต้นจากการชงโดย Espresso Machine เพราะว่ารสขมของเอสเพรสโซคือพื้นฐานแรกเพื่อต่อยอดไปสู่เมนูอย่างอเมริกาโน่ ลาเต้ มอคค่า คาปูชิโน่ การจะชงกาแฟด้วยเครื่องนี้ได้อย่างชำนาญคือต้องชงให้ได้เอสเปรสโซช็อตที่ยอดเยี่ยม มีรสสัมผัส กลิ่นที่ดี มีเครมม่าสีทองลอยอยู่ด้านบน บอดี้เป็นสีน้ำตาลคาราเมล และส่วนฮาร์ทเป็นสีเข้ม
เพราะว่าเมนูจาก Slow Bar กำลังเป็นที่นิยม บาริสต้าจึงต้องมีทักษะของการชง Drip Coffee หรือต้มกาแฟจาก Moka Pot ด้วย และสุดท้ายคือการเรียนรู้ศิลปะแห่งกาแฟด้วย Latte Art หรือการทำลวดลายด้วยฟองนม ที่ให้ทั้งความสวยงามและสร้างสุนทรีย์ของการดื่มที่มากขึ้น ยังไงซะกาแฟก็เป็นเหมือนศิลปะแห่งเครื่องดื่มอยู่แล้ว
การบำรุงรักษาเครื่องมือ
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กับส่วนอื่น คือการเข้าใจอุปกรณ์ในสเตชั่นของบาร์เทนเดอร์พร้อมกับเรียนรู้วิธีดูแลเพื่อทั้งถนอมการใช้งาน รวมถึงรักษาให้คุณภาพของกาแฟมีมาตราฐานเท่ากันเสมอ อีกหนึ่งรายละเอียดสำคัญที่บาริสต้าที่ดีต้องใส่ใจ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบาริสต้าที่เก่งเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดในการเลือกเข้าร้านกาแฟสักร้าน ไม่ใช่แค่เพื่อดื่มกาแฟที่อร่อยอย่างเดียว แต่เพื่อรับประสบการณ์บริการของคนที่เข้าใจกาแฟเหมือนกันนั่นเอง