ความนิยมการดื่มกาแฟแนว Slow Bar มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในไทย คอกาแฟส่วนใหญ่มักเลือกดื่มกาแฟดริปหรือดริปกาแฟด้วยตัวเองที่บ้าน จนทำให้กระแสกาแฟดริปในไทยมีคอมมูนิตี้ที่ใหญ่และกว้างขึ้นมาก เหตุผลเพราะความพิเศษของการชงกาแฟดริปที่มีความคลาสสิกสูงและมีทักษะเชิงศิลป์ ทำให้ศาสตร์การ “Dripping” เป็นที่นิยมเสมอสำหรับคอกาแฟ ในขณะที่การชงแบบ “Syphon” ก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์การชงกาแฟที่ได้ชื่อว่าคลาสสิกและมีเสน่ห์โดดเด่นที่สุด เป็นรูปแบบที่อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่นักในไทย แต่กาแฟไซฟ่อน โด่งดังมากในญี่ปุ่นและกำลังกลับมาบูมในหมู่คาเฟ่ Slow Bar

“ไซฟ่อน” คืออะไร

ไซฟ่อน (Syphon / Siphon) สามารถเรียกได้อีกชื่อว่า Vacuum Pot เป็นอุปกรณ์ชงกาแฟสไตล์คลาสสิกที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่เกือบ 200 ปีก่อน ไซฟ่อน เป็นเครื่องชงกาแฟที่มีหน้าตาคล้ายกับอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์มาก นั่นก็เพราะในช่วงปี 1800 ก่อนที่จะมีการออกแบบไซฟ่อนอย่างจริงจัง ยุคสมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้สนใจการทดลองเกี่ยวกับสุญญากาศและแรงดัน ผนวกกับช่วงนั้นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟกำลังเฟื่องฟูและเป็นที่นิยม ทำให้หลายคนพยายามนำสองศาสตร์นี้มารวมกัน ก่อนจะถือกำเนิดมาเป็นหลักการและรูปแบบของไซฟ่อน และ Vacuum Pot

หากแต่จุดเริ่มต้นการประดิษฐ์จริงจัง เกิดขึ้นช่วงปี 1830 เครื่องชงกาแฟไซฟ่อนรูปแบบแรกที่โลกรู้จัก ถูกออกแบบและประดิษฐ์ครั้งแรก ณ กรุงเบอร์ลิน โดยชาวเยอรมนีที่ชื่อว่า ‘Loeff’ หรือ ‘Loeff of Berlin’ ก่อนที่ไซฟ่อนจะแพร่กระจายอิทธิพลไปทั่วยุโรปและได้รับความนิยมเป็นพิเศษในฝรั่งเศสช่วงปี 1840 – 1841 นับจากนั้น ได้มีการพัฒนารูปแบบไซฟ่อนออกไปหลายเวอร์ชัน เริ่มมีการนำเครื่องไซฟ่อนออกจำหน่ายสู่ตลาดและร้านกาแฟ คร่ำหวอดอยู่ในสังคมยุโรปและอเมริกาอยู่นาน ไซฟ่อนได้แพร่อิทธิพลมายังประเทศญี่ปุ่นช่วงปี 1925 นับเป็นการมาที่เขย่าวงการกาแฟโซนเอเชียไม่น้อย ทำให้การชงแบบไซฟ่อนกลายมาเป็นรูปแบบยอดนิยมประจำโซนเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะ ญี่ปุ่นและไต้หวัน

ปัจจุบัน ตลาดเครื่องชงไซฟ่อนรายใหญ่ ได้แก่บริษัทผลิตแก้วสัญชาติญี่ปุ่น Hario และ Yama ซึ่งทั้ง 2 เจ้าได้พัฒนาและผลิตอุปกรณ์ไซฟ่อนรูปแบบเก่าในอดีตให้มีรูปโฉมทันสมัยขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบการชงไซฟ่อนที่หลากหลายจนเป็นที่ยอมรับจากอดีตจนปัจจุบัน

จุดเด่นของการชงกาแฟด้วยไซฟ่อน

จุดเด่นของการชงกาแฟด้วยไซฟ่อน

ไซฟ่อน (Siphon / Syphon) เป็นอุปกรณ์ชงกาแฟขนาดกลางแบ่งออกเป็นภาชนะโหลแก้ว 2 ชิ้น มักเรียกว่า Upper Bowl และ Lower Bowl เป็นการชงกาแฟที่อาศัยหลักการสุญญากาศ โดยจะทำผ่านการต้มน้ำใน Lower Bowl เมื่อน้ำเดือดหลักสุญญากาศจะสร้างแรงดันน้ำจาก Lower Bowl ให้ไหลย้อนขึ้นไปสู่ Upper Bowl ที่อยู่ด้านบน ซึ่งเป็นจุดสำหรับชงกาแฟ หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการดับไฟหรือทำให้ส่วนของ Lower Bowl เย็นลง กระบวนการนี้จะทำให้แรงดันกลับสู่ปกติและน้ำกาแฟที่ถูกชงจะไหลลงกลับมาสู่ Lower Bowl ด้านล่าง นับเป็นหลักการทางฟิสิกส์ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการชงกาแฟได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้การชงกาแฟแบบไซฟ่อนมีความโดดเด่นสูงเรื่องอุปกรณ์และหลักการที่ต่างจากกาแฟ Slow Bar แบบอื่น

ในเรื่องของรสชาติ นับเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของการชงแบบไซฟ่อน เพราะนอกการชงจะใช้หลักการสุญญากาศแล้วยังใช้หลักการ Immersion มาร่วมด้วย ตัวกาแฟที่ได้จะเป็นกาแฟสกัดเต็มรูปแบบ (Full Immersion) บอดี้กำลังดี รสสัมผัสจะคลีนใส รสชาติที่ได้จะมีความเข้มข้นและนุ่มนวล มีกลิ่นหอมที่ชัดเจน

แนะนำ 6 อุปกรณ์ที่ใช้กับการชงแบบไซฟ่อน

1. เครื่องชงไซฟ่อน (Syphon Brewer)

อุปกรณ์ที่เป็นดั่งหัวใจสำคัญ “เครื่องชงไซฟ่อน” จากแบรนด์ Hario รุ่น Technica 2 Cups เป็นเครื่องชงไซฟ่อนที่ส่งตรงจากแบรนด์ชั้นนำ “Hario” สัญชาติญี่ปุ่น ประเทศและยี่ห้อที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องชงไซฟ่อนมาแต่ไหนแต่ไร ตัวโถ Upper Bowl และ Lower Bowl ผลิตจากแก้ว พร้อมดีไซน์แบบคลาสสิกมาคู่กับตะเกียงแอลกอฮอลล์ฉบับดั้งเดิม ให้ความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปชงในยุคไซฟ่อนรุ่งเรืองเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ด้ามจับและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เป็นพลาสติกคุมโทนสีดำ ทำให้รูปลักษณ์โดยรวมมีความเรียบหรู สามารถวางโชว์ในร้านหรือชงกาแฟดื่มในวันสบาย ๆ ก็ได้อีกด้วย รุ่นนี้สามารถชงกาแฟได้ในปริมาณ 240 ml. หรือ 1 – 2 เสิร์ฟ

2. ไม้พายไซฟ่อน (Syphon Stirrer)

ไม้พายสำหรับการชงไซฟ่อน ไม้พายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยกับการชงแบบไซฟ่อน เนื่องจากการคนผงกาแฟให้เข้ากันกับน้ำในขั้นตอนการชง สามารถส่งผลต่อรสชาติและรสสัมผัสของกาแฟได้ วัสดุไม้ไผ่จะช่วยให้บอดี้กาแฟมีความคลีนใสมากที่สุด

3. ตาชั่งดิจิทัล (Digital Scale)

ตาชั่งดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญในวงการกาแฟ Slow Bar อย่างมาก เนื่องจากทุกขั้นตอนมักชงด้วยมือ จึงจำเป็นที่ต้องชั่งตวงเสมอเพื่อให้การสกัดกาแฟอยู่ในระดับสมบูรณ์แบบ (Perfect Extraction) “Hario V60 Drip Scale” เป็นเครื่องชั่งระบบดิจิทัลพร้อมตัวจับเวลาในตัว มีความแม่นยำสูง เหมาะกับการชงกาแฟแบบ Slow Bar มาในสไตล์มินิมอลสีดำ เข้าเซ็ตกับอุปกรณ์ชงกาแฟ Slow Bar อื่น ๆ ได้

4. เครื่องจับเวลา (Timer)

การชงกาแฟแบบไซฟ่อน จำเป็นต้องใช้การจับเวลาร่วมด้วย โดยเฉพาะในขั้นตอนการแช่กาแฟทิ้งไว้ (Immersion) ที่มักใช้เวลาประมาณ 1 นาที การจับเวลาจะทำให้กาแฟที่ได้ถูกใจและพอดีกับรสชาติที่เราต้องการ ฉะนั้น “Digital Clock Timer” จากแบรนด์ Aroma ที่มาพร้อมระบบดิจิทัล จึงเป็นตัวเลือกที่แนะนำ ด้วยดีไซน์เรียบง่ายและสามารถใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน

5. เตาอินฟราเรด (Infrared Beam Heater)

นอกจากตะเกียงที่แถมคู่กับชุดชงกาแฟไซฟ่อนแบบออริจินัลแล้ว การชงกาแฟไซฟ่อนยุคปัจจุบัน ยังนิยมใช้ เตาไฟฟ้าหรือเตาอินฟราเรด เพื่อความทันสมัย รวดเร็วและง่ายต่อการใช้งานภายในอาคาร

“Hario Beam Heater” เป็นเตาไฟฟ้าที่ใช้ลำแสงอินฟราเรดในการสร้างคลื่นความร้อน ใช้เวลารวดเร็ว ตอบโจทย์ต่อการชงกาแฟไซฟ่อน ด้วยดีไซน์ที่สวยงามและเรียบหรู จึงสามารถใช้ในครัวเรือนหรือเชิงพาณิชย์ได้

 

6. เครื่องบดเมล็ดกาแฟ (Coffee Grinder)

สำหรับกาแฟ Slow Bar แล้ว เครื่องบดเมล็ดกาแฟยอดนิยมต้องเป็นประเภทหมุนมือ (Hand Coffee Grinder) เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์การชงแบบช้า ๆ แต่มีเสน่ห์ ที่สำคัญการบดเมล็ดแบบหมุนมือ เราสามารถปรับระดับความหยาบ-ละเอียดได้ตามใจชอบ

– Hario Mill Smart G : เครื่องบดหมุนมือจากแบรนด์ Hario ความจุ 24 กรัม ที่มาพร้อมเฟืองบดวัสดุจากเซรามิก ไม่ทำให้เมล็ดกาแฟสูญเสียน้ำมันหรือรสชาติระหว่างการบด สามารถปรับระดับความหยาบ-ละเอียดได้ตามชอบ มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก

– HARIO Ceramic Coffee Mill Skerton+ : เครื่องบดหมุนมือแบรนด์ Hario ที่มีเฟืองทำจากเซรามิกเหมือนกัน ช่วยถนอมน้ำมันและคงรสชาติเดิมของเมล็ดกาแฟไว้ได้ มีขนาดกะทัดรัด กระชับมือ

วิธีการชงกาแฟด้วย “ไซฟ่อน”

วิธีการชงกาแฟด้วย “ไซฟ่อน”

ก่อนชงกาแฟไซฟ่อน เราควรอุ่นหรือวอร์มเครื่องชงทั้ง 2 ส่วนด้วยน้ำอุ่นก่อนเสมอ (Upper Bowl / Lower Bowl) เพื่อทำให้อุปกรณ์พร้อมใช้และเป็นการชะล้างสิ่งสกปรก 

Step 1: ประกอบตัวกรอง

นำตัวกรองติดเข้ากับโหล Upper Bowl โดยการใส่ลงไปตรง ๆ จากนั้นให้ดึงโซ่ให้ส่วนตะขอเกี่ยวลงกับปลายหลอดสุญญากาศ เพื่อเป็นการกระชับตัวกรองให้แน่น ไม่หลุดระหว่างการชง เราสามารถใช้ไม้พายกดตัวกรองจากด้านใน Upper Bowl อีกครั้งเพื่อเช็กความแน่นหนาได้

Step 2: ตวงน้ำ

เมื่อประกอบตัวกรองเข้ากับ Upper Bowl ได้แล้วให้พักไว้ แล้วนำน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำร้อนมาตวงใส่ Lower Bowl ในอัตราส่วน (Ratio) 1:15 หรือ อัตราส่วน กาแฟ 16 กรัม ต่อน้ำ 240 ml. จากนั้นให้วาง Lower Bowl ลงบนเครื่องชั่ง ให้ได้ปริมาณน้ำ 240 ml.

Step 3: บดเมล็ดกาแฟ

จากอัตราส่วนด้านบน ให้นำเมล็ดกาแฟปริมาณ 16 กรัม มาบดในระดับค่อนข้างหยาบ พักไว้

Step 4: ต้มน้ำ

นำ Lower Bowl ที่ตวงน้ำไว้ ไปตั้งบนเตาอินฟราเรดเปิดไฟระดับสูงสุด แล้ววาง Upper Bowl ลงไปบน Lower Bowl เพียงแค่หลวม ๆ ไม่ถึงกับแน่นในช่วงที่น้ำยังไม่เดือด รอสักครู่จนกว่าน้ำจะเดือด ใช้เวลาไม่นาน

Step 5: ประกอบ Upper Bowl

สังเกตเมื่อน้ำเริ่มจะเดือด ให้ประกอบตัว Upper Bowl ที่วางไว้หลวม ๆ เมื่อครู่ ดันลงล็อกให้แน่น และตรวจสอบให้แน่ใจว่า Upper Bowl ต่อกับ Lower Bowl อย่างแน่นหนาแล้ว

Step 6: เติมผงกาแฟ

เมื่อน้ำเริ่มเดือดถึงที่ น้ำร้อนจาก Lower Bowl จะถูกดูดขึ้นไปอยู่ใน Upper Bowl ด้วยหลักการสุญญากาศและแรงดัน เมื่อน้ำถูกดึงขึ้นไปในระดับจนเกือบหมด ให้เทผงกาแฟที่บดเมื่อครู่ลงไปในน้ำร้อน จากนั้นใช้ไม้พายไซฟ่อนคนกาแฟให้เข้ากับน้ำ ประมาณ 10 รอบอย่างเบามือ

Step 7: ตั้งเวลาและต้มกาแฟ

ถัดจากการคน 10 รอบแล้ว ให้จับเวลาการต้มกาแฟประมาณ 1 – 1.30 นาที โดยประมาณ ระหว่างนั้น ให้เราคนกาแฟรอบที่ 2 หลังผ่านไปราว ๆ 45 วินาที แต่ให้คนเบา ๆ ประมาณ 5 รอบ แล้วพักไว้จนครบเวลาที่กำหนด

Step 8: ปิดเตา

เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้ปิดเตาทันที สามารถยกเครื่องไซฟ่อนลงจากเตาได้ เพื่อไม่ให้ Lower Bowl โดนไอความร้อนที่ยังกรุ่นอยู่บนเตา และสามารถใช้ผ้าค่อย ๆ เช็ดด้านนอกของ Lower Bowl ได้เพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้ไวยิ่งขึ้น

Step 9: กาแฟไหลกลับสู่ Lower Bowl

เมื่อความร้อนของแก้ว Lower Bowl เย็นลง แรงดันไอน้ำในโถก็จะลดลงตามด้วย ทำให้น้ำกาแฟที่ชงไว้เมื่อครู่ใน Upper Bowl จะไหลลงสู่แก้ว Lower Bowl เหมือนเดิม ผ่านตัวกรองตรงกลาง ทำให้น้ำกาแฟที่ไหลลงมาจะถูกกรองเอากากกาแฟไว้ เหลือเพียงกาแฟดำ

Step 10: เท-ดื่ม-สัมผัส

ปกติกระบวนการไหลกลับลงมาของกาแฟจะใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที น้ำกาแฟทั้งหมดจะถูกบรรจุอยู่ในโถ Lower Bowl ให้เราถอด Upper Bowl ออก ขั้นตอนนี้อาจทำยากเล็กน้อยเนื่องจากแรงสุญญากาศทำให้โถทั้ง 2 ติดกันแน่นขึ้น เมื่อถอด Upper Bowl ได้แล้ว เราก็จะสามารถเทกาแฟที่ได้ใส่แก้วเพื่อลิ้มรสชาติ ดื่มด่ำกับรสสัมผัสที่พิเศษจากการชงแบบพิเศษ

การชงกาแฟไซฟ่อน นับเป็นวิถีที่เต็มไปด้วยความคลาสสิก น่าตื่นตาตื่นใจ และกำลังกลับมาเป็นกระแสในหมู่คาเฟ่ Slow Bar ที่ไทยมากขึ้น ด้วยเสน่ห์การชงที่พิเศษโดดเด่น เป็นการชงกาแฟเชิงศิลปะผสมผสานหลักวิทยาศาสตร์อย่างลงตัว เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่มาเพื่อมัดใจคอกาแฟ Slow Bar จริง ๆ