ถ้าจะบอกว่าปี 2023 คือยุคสมัยของ Dirty Coffee จะผิดมั้ย หลาย ๆ คนน่าจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่’ ในช่วงเวลาที่มีร้านกาแฟแบบ Specialty ผุดขึ้นเดือนต่อเดือน อะไรทำให้เมนูชื่อแอบน่ากลัวนิด ๆ ตัวนี้ได้รับความสนใจเป็นอันดับแรก ๆ ของคอกาแฟ รสชาติ ความแตกต่าง หรือเพียงเพราะถ่ายรูปแล้วสวย บทความนี้จะพาไปหาคำตอบพร้อมกัน

Dirty Coffee คืออะไร – คำว่า Dirty มาจากไหน ?

Dirty Coffee คืออะไร

บ้านเราอาจจะชินกับคำว่า ‘กาแฟเดอร์ตี้’ มากกว่า ซึ่งจริง ๆ ชื่อเต็มคือ Dirty Coffee เดอร์ตี้คือกาแฟที่แยกชั้นระหว่างนมสดเย็นจัดอยู่ที่ชั้นด้านล่างของแก้ว กับ Espresso หรือ Ristretto 1-2 ช็อตที่ถูกเทราดอยู่ด้านบนของแก้ว เกิดเป็นเครื่องดื่มที่มีความนวลจากนมสด พร้อมกับความขมเข้มของช็อตกาแฟดำ เสิร์ฟด้วยอุณหภูมิร้อนผสมเย็น กลายเป็นความลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

บางคนบอกว่าคำว่า “Dirty” นั้นเกิดจากภาพของการที่นมและช็อตกาแฟของเมนูนี้ซึ่งแยกเลเยอร์กันอย่างชัดเจนในด้านบนและด้านล่างมาผสมกันตอนที่อุณหภูมิเท่ากัน สร้างความเปรอะเปื้อนของสองสิ่งที่อยู่คนละขั้วสี เรียกว่ายิ่งเปื้อนยิ่งสวย ยิ่งเปื้อนยิ่งอร่อย

Dirty Coffee จุดกำเนิดแก้วกาแฟจากแดนอาทิศอุทัย

เมื่อพูดถึงประวัติของแก้วเดอร์ตี้เราไม่จำเป็นต้องนั่งไทม์แมชชีนกลับไปไกลแบบตอนเล่าประวัติศาสตร์ของเอสเพรสโซที่มีจุดกำเนิดตั้งแต่วัฒนธรรมกาแฟกำลังเริ่มต้นขึ้น Dirty Coffee มีจุดเริ่มต้นในคาเฟ่เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ณ ย่านชิโมะคิตาซาวะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อ Bear Pond Espresso (Since 2009 – Now) โดยเจ้าของร้านและบาร์เทนเดอร์ คัตซึยูกิ ทานากะ เป็นผู้คิดค้นกาแฟแยก 2 เลเยอร์นี้ขึ้นมา

แต่จุดที่ทำให้ Dirty Coffee กลายเป็นที่รู้จักจริง ๆ นั้นคือตอนที่ทานากะซังเอาเมนูของตัวเองไปเผยแพร่ที่ Joe The Art of Coffee ร้านกาแฟในนิวยอร์ก จนทำให้กลายเป็นกระแสจนถูกใส่เอาไว้ในเมนูของคาเฟ่ Slow Bar แทบทุกที่บนโลกมาจนถึงปัจจุบัน

กาแฟเดอร์ตี้แก้วออริจินอลที่เสิร์ฟใน Bear Pond Espresso จะใช้ภาชนะแบบ Mason jar คือแก้วที่มีลักษณะเหมือนขวดโหล และแบ่งสูตรออกเป็น 2 แบบ ก็คือแบบที่ใช้เอสเพรสโซ 80% + นมเย็น 20% อีกสูตรก็เป็นการสลับอัตราส่วนกัน นมเย็น 80% + เอสพรสโซ 20% โดยมีเมล็ดกาแฟเอสเพรสโซเบลนด์ด้วยเทคนิคพิเศษของตัวเอง เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งฝั่งคนชอบกาแฟนมและคนที่ชอบให้นมเป็นส่วนประกอบเสริมของกาแฟเลยทีเดียว

วิธีทำ Dirty Coffee ด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

วิธีทำ Dirty Coffee ด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

ต้องบอกว่ากาแฟเดอร์ตี้นั้นชงด้วยตัวเองได้ง่ายมาก ๆ เพราะใช้ส่วนผสมน้อย ไม่ซับซ้อน แล้วใช้เวลาต่อหนึ่งแก้วชงที่สั้นอีก เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราเริ่มจากเตรียมส่วนผสมก่อนเลย

ส่วนผสม
  • นมสด
  • เอสเพรสโซช็อต : เพื่อเสริมความพรีเมียมให้กาแฟเดอร์ตี้ การทำเอสเพรสโซช็อตให้พยายามเลือกของดีอย่าง Aroma Espresso Blend กาแฟอาราบิก้า และโรบัสต้า คั่วกลาง ที่ให้รสชาติเข้มข้นและกลิ่นที่หอม หรือกาแฟที่เบลนด์มาแบบพิเศษ
  • ไซรัป : การเลือกไซรัปให้แก้วเดอร์ตี้ค่อนข้างแนะนำว่าให้เลือกเป็นคาราเมลไซรัป ซึ่งทาง Aroma เรามี Coffee House Essential Caramel Syrup ของแบรนด์ Phillips Syrup จากอเมริกา ที่ลงตัวทั้งความหวานและกลิ่นหอมจากน้ำตาลอ้อย เหมาะทั้งสำหรับทำเครื่องดื่มร้อนและเย็น
วิธีการชง Dirty Coffee
  • ขั้นตอนที่ 1 : เริ่มจากการเตรียมนมสดให้พร้อมก่อน นั่นคือการแช่ในตู้เย็นจนอุณหภูมิเย็นจัด
  • ขั้นตอนที่ 2 : เทนมเย็นใส่ลงไปในแก้วพร้อมเติมคาราเมลไซรัปตามเข้าไป
  • ขั้นตอนที่ 3 : สกัดเอสเพรสโซช็อต
  • ขั้นตอนที่ 4 : ราดเอสเพรสโซช็อตใส่แก้ว ค่อย ๆ วนเทเพื่อให้กาแฟแยกเลเยอร์ลอยอยู่เหนือส่วนที่เป็นนม ก็เป็นอันพร้อมเสิร์ฟ

ที่เราไม่ได้ใส่อัตราส่วนให้ทุกคน เป็นเพราะว่า Dirty Coffee เป็นเมนูพิเศษที่สามารถเลือกปรับความเข้ม ความหวาน หรือเพิ่มรสชาติต่าง ๆ ได้ตามใจผู้ดื่ม บางที่ก็ไม่ได้ใช้นมสดแต่ใช้เป็นครีมนมแทน หรือบ้างก็เปลี่ยนจากคาราเมลไซรัปเป็นรสวานิลลาแทนเลยก็มี ส่วนอัตราส่วนระหว่างนมกับกาแฟนั้นถ้าอ้างอิงจากต้นกำเนิดอย่าง Bear Pond Espresso ก็เรียกว่ามีหน้าตาของเดอร์ตี้ทั้ง 2 สูตรที่ต่างกันสุดขั้ว อยู่ที่ว่าคุณชอบแบบไหน เรียกว่าเป็นหน้าตาของกาแฟสมัยใหม่ที่จินตนาการกับรสชาติสำคัญไม่แพ้กัน

วิธีการดื่ม Dirty Coffee ที่ถูกต้อง

วิธีการดื่ม Dirty Coffee ที่ถูกต้อง

การจะดื่มกาแฟเดอร์ตี้ให้อร่อยก็คือ เมื่อบาร์เทนเดอร์ยื่นกาแฟให้แล้ว ก็ให้ดื่มโดยไม่รอนานจนอุณหภูมิเปลี่ยน ไม่ต้องช้อนคนให้เข้ากัน หรือตักนมขึ้นมา Sip ก่อน หรือรอจนเย็น แนะนำให้ดื่มด้วยอุณหภูมิปกติของเดอร์ตี้ (กาแฟร้อนกับนมเย็น) ให้เลเยอร์ความร้อนของกาแฟและความเย็นของนมค่อย ๆ ผสมเข้าด้วยกัน

Two Perfect Layers ! สัมผัสแรกที่จะได้นับคือเอสเพรสโซช็อตร้อน ๆ เข้ม ๆ อบอวลด้วยกลิ่นหอมของกาแฟ แล้วจากนั้นความนวลและรสหวานบาง ๆ ของนมเย็นจืดเย็น ๆ กับคาราเมลไซรัปจะสร้างรสกลมกล่มในตอนสุดท้าย รวมถึง After Taste ด้วย

โดยปกติกาแฟเดอร์ตี้ก็จะนิยมเสิร์ฟในแก้วใสเพื่อให้ผู้ดื่มได้ลิ้มรสภาพของความเปรอะเปื้อนของเจ้าเมนูนี้ และเพราะมีกาแฟร้อนในส่วนผสมซึ่งอาจจะทำให้นมที่เย็นไม่พอจนไม่สามารถสร้างเลเยอร์ 2 ชั้นได้ จึงนิยมชิลแก้วให้เย็นก่อน เพื่อให้อุณหภูมิที่เย็นจัดของทั้งแก้วและนมแยกเลเยอร์ของช็อตกาแฟได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นข้อสำคัญในตอนดื่มคืออย่ารอจนทั้งอุณหภูมิของกาแฟและนมเย็นเท่ากัน นั่นจะทำให้เดอร์ตี้แก้วนี้เหลือเพียงเลเยอร์เดียว และมันจะไม่ใช่เดอร์ตี้อีกต่อไป

ต้องบอกว่ากาแฟเดอร์ตี้เป็นแก้วที่สร้างความสนุกและสัมผัสแปลกใหม่ไม่น้อยให้คอกาแฟ ใครจะเชื่อว่าจะมีเมนูกาแฟที่ต้องดื่มทั้งร้อนและเย็นในแก้วเดียว แถมจะต้องปล่อยให้รสชาติค่อย ๆ ไปผสมกันในปากอีก นอกจากรสชาติก็คงเป็นการนำเสนอนี่ล่ะที่ทำให้เมนูเปรอะ ๆ แก้วนี้อยู่ในใจของคน