“ชาเขียวจะช่วยเยียวยาจิตใจ” วลีนี้อาจถูกหยิบมาพูดโดยใครที่หลงใหลชาเขียวแบบสุดๆ แต่เอาเข้าจริง ชาเขียว ก็นับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มครองใจผู้คนจำนวนไม่น้อย ถึงขั้นที่ว่ามีการสร้างคอมมิวนิตี้ชาเขียวเลิฟเวอร์กันแบบจริงจัง ไม่น้อยหน้ากาแฟเลยด้วยซ้ำ เพราะก็ต้องยอมรับว่า วัตถุดิบหลากมิติอย่าง ชาเขียว สามารถหยิบไปจับคู่ ปรุงเพิ่มเสริมแต่งกับเมนูเครื่องดื่มได้อีกนับร้อยนับพัน แถมยังได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับชาเขียวชาใจ เมนูที่ใครหลายคนหลงรัก นอกเหนือจากความอร่อย สดใส ให้ความสดชื่นแล้วนั้น ชาเขียวจะให้อะไรกับสายดื่มชาบ้าง

ข้อแตกต่างระหว่าง กรีนที กับ มัทฉะ
ทั้ง ชาเขียว (Green Tea) และ มัทฉะ (Matcha) มักเป็นชื่อเมนูที่ตีคู่กันมาเสมอบนลิสต์เครื่องดื่มตามร้านกาแฟ และมักสร้างความสับสนอยู่บ่อยครั้ง ว่าแท้จริงแล้วทั้งคู่ต่างกันอย่างไร ? ซึ่งตามหลักความเป็นจริง ชาเขียว (Green Tea) และ มัทฉะ (Matcha) เป็นเครื่องดื่มที่แสดงถึงเมนูชาเขียวเหมือนกัน เป็นชาเขียวที่จัดเป็นพืชในสกุล Camellia แบบเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งชาเขียวปกติและชาเขียวแบบมัทฉะ มีข้อแตกต่างกันอยู่พอสมควรทีเดียว อันดับแรกเลยคือ รูปแบบการผลิตจนมาเป็นวัตถุดิบพร้อมชง ‘ ชาเขียว (Green Tea) ’ จะมีลักษณะเป็นใบชาตากแห้ง ซึ่งอาจถูกบรรจุมาในกระปุกรวมกันหรือใส่อยู่ในซองไนลอนสำหรับแช่ก็ได้
ในขณะที่ มัทฉะ (Matcha) จะมาในลักษณะผงชาเขียวที่ผ่านการบดอย่างละเอียดมาแล้ว ปรากฏเป็นผงสีเขียวนวลเข้มหรืออ่อน ซึ่งชาเขียวแบบมัทฉะจะมีความเข้มข้นสูง ข้อแตกต่างอันดับต่อมานั่นก็คือ กรรมวิธีการชง ชาเขียวกรีนที จะถูกชงด้วยการนำใบชาแห้งมาสกัดกับน้ำร้อน เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำชาเขียวที่เป็นเบสพร้อมไปปรุงเพิ่มกับนมหรือไซรัป ส่วนชาเขียวมัทฉะจะต้องนำผงชาเขียวละเอียดมาผสมกับน้ำร้อนหรือนมร้อน ตีคนให้เข้ากันด้วยถ้วยกระเบื้องขนาดกลางพร้อมแปรงตีชา (Chasen) กรรมวิธีนี้ที่จะได้มาซึ่งเบสชาเขียวเข้มข้น สามารถเพิ่มนมแล้วดื่มได้เลยหรือนำไปปรุงรสชาติเพิ่มก็ได้
แต่ทั้งนี้ รสสัมผัสที่ได้จากแบบกรีนทีและมัทฉะก็ต่างกันไม่น้อย ชาเขียวแบบกรีนที จะมีความนุ่ม หอมอ่อนๆ ฝาดเล็กน้อย มักนิยมดื่มเป็นชาเขียวร้อน หรือ ชาเขียวเย็นแบบใส ขณะที่ มัทฉะ รสสัมผัสจะมีความหนักแน่นกว่ามาก ให้รสชาติที่เข้มข้นและขมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้คนมักนิยมนำไปผสมกับนมหรือน้ำผึ้ง เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น ท้ายที่สุด ทั้งกรีนทีและมัทฉะ ให้ปริมาณคาเฟอีนที่ไม่เท่ากัน ชาเขียวกรีนที ให้ปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 11 – 25 มิลลิกรัม ต่อชาเขียว 1 กรัม ส่วน มัทฉะ จะให้ปริมาณคาเฟอีน อยู่ที่ 19 – 44 มิลลิกรัมต่อมัทฉะ 1 กรัม
ประโยชน์ที่น่าสนใจในชาเขียว
ไม่เพียงแค่อร่อยและให้ความสดชื่น แต่ชาเขียวในทุกประเภท ไม่ว่าจะ กรีนทีธรรมดา หรือ มัทฉะเข้มข้น ล้วนมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพซ่อนเอาไว้อย่างคาดไม่ถึง ในปัจจุบันมีผลวิจัยและการศึกษาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอกย้ำว่า ชาเขียว มีคุณประโยชน์มากมายกว่าที่คิด โดยจะมีประเด็นหลัก ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

- ลดน้ำหนัก (Weight Loss)งานวิจัยหลายชิ้นเห็นพ้องต้องกันว่า ชาเขียวนั้นมีส่วนช่วยในเรื่องลดน้ำหนักได้จริง เพราะในชาเขียว ประกอบไปด้วย คาเทชิน (catechins) และ คาเฟอีน (caffeine) ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย
- ลดการอักเสบของผิว (Inflammatory skin conditions)ชาเขียว มีคุณสมบัติโดดเด่นช่วยลดอาการอักเสบ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ Epigallocatechin Gallate (EGCG) ที่มีคุณสมบัติลดอาการอักเสบของผิว เป็นเหตุให้ในปัจจุบัน ได้มีการนำชาเขียว มาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบของเครื่องสำอางประทินผิว นอกจากนี้ สารชนิดดังกล่าว ยังช่วยเพิ่มแบคทีเรียดีในลำไส้ ส่งผลให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ลดการสะสมสารพิษ
- ผลดีต่อสุขภาพหัวใจ (Healthy Heart)ผลวิจัยชี้ชัดว่าการดื่มชาเขียว มีส่วนช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดได้จริง ทั้งนี้ สารพอลิฟีนอล หรือ สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในชาเขียว มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ปรับปรุงการทำงานของเยื่อบุผิว และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจในหมู่คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์และกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน
- กระตุ้นการทำงานของสมอง (Boost Brain Function)ชาเขียวอุดมไปด้วยสารสกัดธรรมชาติมากมาย เช่น คาเฟอีน ถึงแม้ในชาจะมีคาเฟอีนไม่สูงเท่ากาแฟ แต่ก็มีปริมาณมากพอที่ช่วยให้สมองตื่นตัวและมีสมาธิเพิ่มขึ้นได้ ยังไม่นับรวม กรด Amino Acid L-theanine ที่ช่วยเพิ่มสารเคมีบางตัวในสมอง ส่งผลให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการตึงเครียดได้ ในแง่การทำงานของสมองอื่น ๆ ชาเขียวยังมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมโทรมของสมองอีกด้วย
- ผลดีต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด (Support Blood Sugar Control)ผลวิจัยอีกหนึ่งแง่มุม เปิดเผยว่า ชาเขียว มีส่วนช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินในร่างกาย และส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
แนะนำอ่านต่อ : แจกสูตรวิธีทำชานม เมนูยอดฮิต ชงอย่างไรให้อร่อยเหมือนต้นฉบับ
เคล็ดไม่ลับ ดื่มชาเขียวให้ได้คุณประโยชน์สูงสุด และข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าประโยชน์ของชาเขียวจะมีหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง แต่การบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะพอดีเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอ จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ การดื่มชาเขียวในปริมาณ 3 ถ้วยต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่าปริมาณ 320 มิลลิกรัม เป็นระดับที่ส่งดีต่อสุขภาพสูงสุด นอกจากนี้ ควรดื่มชาเขียวระหว่างมื้ออาหาร หรือ ในขณะที่ท้องไม่ว่าง เพราะการบริโภคขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารและปวดท้อง ยังมีสิ่งที่ต้องพึงระวังในการดื่มชาเขียวอีกหลายอย่าง เช่น
- ไม่ควรดื่มชาเขียวมากกว่า 5 ถ้วยต่อวัน เพราะอาจทำให้ระดับคาเฟอีนสูงกว่าปกติและเกิดอาการใจสั่น กระสับกระส่าย หรือ หัวใจเต้นผิดปกติได้
- ควรเลี่ยงการดื่มชาเขียวในคนท้อง
- บุคคลที่ร่างกายไวต่อคาเฟอีน ต้องระวังการดื่มชาเขียวให้มาก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงได้ เช่น ปวดหัวรุนแรง อาเจียน นอนไม่หลับ วิตกกังวล
4 เมนูยอดฮิตแนะนำ จากชาเขียว ดื่มง่ายทำได้ที่บ้าน
1. ชาเขียวนมสด (Iced Green Tea)
วัตถุดิบ :
- ใบชาแห้ง หรือ ผงชาเขียว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำร้อน ประมาณ 200 ml.
- นมข้นหวาน / น้ำตาลทราย
- นมสด ประมาณ 50 ml.
- น้ำแข็ง
อุปกรณ์ :
- เครื่องชงชา / กาชงชา
- ภาชนะสำหรับตวงและช้อน
- แก้วสำหรับดื่ม
วิธีทำ :
- หากใช้ผงชาเขียวให้นำมาชงกับน้ำร้อนแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำชาเขียว แต่ถ้าใช้ใบชาแห้ง สามารถชงผ่านการชงชา หรือ ใช้วิธีแช่กับน้ำร้อนทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก็จะได้เบสน้ำชาเขียว
- นำเบสน้ำชาเขียวมาปรุงรสชาติเพิ่ม เติมน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา นมข้นหวาน 2 ช้อนโต๊ะ และนมสดจืด 50 ml. ผสมให้เข้ากัน
- เตรียมแก้วพร้อมดื่ม ใส่น้ำแข็ง จากนั้นเทส่วนผสมชาเขียวที่ปรุงเมื่อครู่ลงไป สามารถออนท็อปด้วยวิปปิงครีมหรือโฟมนมตามต้องการ
2. มัทฉะลาเต้ (Iced Matcha Latte)
วัตถุดิบ :
- ผงมัทฉะ 3 กรัม (1.5 ช้อนชา)
- น้ำอุ่น 40 ml.
- นมสด 150 ml0
- ไซรัป
- น้ำแข็ง
อุปกรณ์ :
- ถ้วยชงชา
- ภาชนะสำหรับตวงและช้อน
- แก้วสำหรับดื่ม
วิธีทำ :
- นำผงมัทฉะปริมาณ 1.5 ช้อนชา ผสมกับน้ำอุ่น 40 ml. ในถ้วยชงและคนให้เข้ากันด้วย Chasen หากไม่มีให้ใช้ช้อนหรือเครื่องตีฟองนมแทนได้ เมื่อเข้ากันแล้วพักไว้
- เตรียมแก้วพร้อมน้ำแข็ง เทนมสดลงไปและปรุงความหวานตามชอบด้วยไซรัป จากนั้นนำมัทฉะที่ชงไว้ก่อนหน้า เทตามลงไป ก็จะได้ชั้นนมสดและชาเขียวแบบแยกชั้นอย่างมีศิลปะ นั่นจึงเรียกว่า ‘มัทฉะลาเต้’
3. ดัลโกนามัทฉะลาเต้ (Dalgona Matcha Latte)
วัตถุดิบ :
- ผงชาเขียวธรรมดา หรือ ผงมัทฉะ
- น้ำร้อน
- น้ำตาลทราย
- นมสด
- วิปปิงครีม (ตามชอบ)
- น้ำแข็ง
อุปกรณ์ :
- ภาชนะสำหรับตวงและช้อน
- แก้วสำหรับชง
- แก้วสำหรับดื่ม
วิธีทำ :
- นำผงชาเขียวสำเร็จรูปที่มี ในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มาชงกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะและน้ำร้อนประมาณ 15 – 30 ml. ผสมให้เข้ากันด้วยช้อนหรือเครื่องตีฟองนม
- จากนั้นให้ใส่วิปปิงครีมลงไปเล็กน้อย และคนให้เข้ากันอีกครั้ง เนื้อสัมผัสจะข้นหนืดพอประมาณ
- เตรียมแก้วพร้อมน้ำแข็ง และเทนมสดปริมาณ 250 ml. ลงไป ตามด้วยเบสชาเขียวที่ผสมไว้เมื่อครู่ลงไปด้านบน ชั้นนมและชาเขียวจะแบ่งชั้นอย่างชัดเจน พร้อมเสิร์ฟ
4. กาแฟชาเขียว (Green Tea Coffee)
วัตถุดิบ :
- น้ำชาเขียว ที่ได้จากการชงหรือสกัด
- น้ำร้อน
- ไซรัป หรือ นมข้นหวาน
- นมสด
- กาแฟดำ หรือ อเมริกาโน
- น้ำแข็ง
อุปกรณ์ :
- ภาชนะสำหรับตวงและช้อน
- แก้วสำหรับชง
- แก้วสำหรับดื่ม
วิธีทำ :
- นำเบสน้ำชาเขียวที่ได้จากการชงร้อน หรือ จากการสกัดด้วยกาชงชา ในปริมาณ 30 ml. มาผสมกับนมสดปริมาณ 45 ml. ปรุงรสชาติด้วยไซรัปเล็กน้อย แล้วเทลงในแก้วที่ใส่น้ำแข็งเตรียมไว้
- สามารถเพิ่มนมสดลงไปเป็นชั้นตรงกลางด้วยการรินผ่านช้อน จากนั้นให้นำกาแฟดำ หรือ อเมริกาโนที่เตรียมไว้เทใส่เป็นชั้นบนสุด โดยวิธีการริน ควรรินผ่านหลังช้อนอย่างช้า ๆ เพื่อให้เป็นชั้นสวยงาม หากไม่มีเครื่องชากาแฟ สามารถใช้กาแฟสำเร็จรูปทุกรูปแบบแทนได้ เช่น Cold Brew
5. ชาเขียวมะนาวโซดา (Iced Green Tea Lemon Soda)
วัตถุดิบ :
- ชาเขียวซองสำเร็จรูป หรือ ใบชาแห้ง
- น้ำร้อน
- น้ำมะนาว
- ไซรัป
- โซดา
- น้ำแข็ง
อุปกรณ์ :
- ภาชนะสำหรับตวงและช้อน
- แก้วสำหรับชง
- แก้วสำหรับดื่ม
วิธีทำ :
- นำใบชาเขียวแห้งมาสกัดกับน้ำร้อน หรือ นำชาเขียวซองสำเร็จรูปมาแช่ในน้ำร้อนประมาณ 10 นาที เพื่อให้ได้เบสน้ำชาเขียวใส ในปริมาณ 60 ml.
- จากนั้นให้นำน้ำชาเขียวที่ได้ มาผสมกับน้ำมะนาว 5 ml. และไซรัปประมาณ 30 ml. จากนั้นคนให้เข้ากัน
- เทชาเขียวที่ได้ลงในแก้วพร้อมน้ำแข็ง เติมโซดาตามลงไป สามารถตกแต่งด้วยมะนาวฝาน เป็นอันเสร็จ
ก็นับว่า ‘ชาเขียว’ เป็นเมนูเครื่องดื่มครองใจสายชาไม่น้อยเลยจริงๆ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ทั้งสายชาเขียวใสและชาเขียวนม ก็ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ที่มากกว่าความอร่อย-สดชื่นอีกต่างหาก แต่ทั้งนี้ การบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะพอดี จะช่วยให้เรารับแต่คุณประโยชน์ดี ๆ และมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างสูงสุด